
โคบี้ ไบรอันท์ ต่างจากนักบาสคนอื่นอย่างไร ย้อนกลับไปในปี 1997 ในขณะที่โคบี้พึ่งเข้าลีกเป็นปีแรก เกมที่เลเกอร์สหลังชนฝาตาม ยูทาห์ แจ็ส ในซีรีย์รอบรองชนะเลิศสายตะวันตกอยู่ 1 – 3 เกม เขายิงพลาดแบบลูกไม่โดนห่วง 4 ลูกรวด ในช่วงตัดสิน 5 นาทีสุดท้ายของเกม และทำให้ทีมตกรอบไปในที่สุด
หลังจบเกม ชาคีล โอนีล พยายามเดินเข้ามาปลอบใจรุกกี้ที่พึ่งทำพลาดครั้งใหญ่ในเกมสำคัญต่อหน้าผู้ชมทั่วโลก การยิงแอร์บอลติดต่อกันในช่วงเวลาตัดสินแบบนั้นมันไม่ใช่เรื่องเล็ก ในการให้สัมภาษณ์ล่าสุด เมื่อมีคนไปถามโคบี้ว่า แชคเดินมาพูดอะไรกับเขาและตัวเขาเองรู้สึกอย่างไรตอนเดินออกนอกสนาม โคบี้ให้คำตอบว่า

“ผมไม่ได้สนใจฟังสิ่งที่แชคพูดเลย มันเป็นคำพูดให้กำลังใจนั่นละ แต่…ผมไม่เป็นห่าไรหรอกโว้ย!” โคบี้ เล่าให้ฟังว่าเขาไม่ได้รู้สึกว่าความผิดพลาดนั้นมันกระทบความมั่นใจอะไรของเขาแม้แต่น้อย…ยิงพลาดแล้วไง
สิ่งที่โคบี้ทำหลังจากยิงพลาดคือไปนั่งดูเทปย้อนหลังและเขาพบว่า ทุกลูกที่ปล่อยออกไปมันตรงกับวิถีห่วง แสดงว่าฟอร์มการปล่อยบอลไม่มีปัญหา แต่บอลมันสั้นทุกลูก นั่นแปลว่ากำลังขาของเขามันมีไม่มากพอในเกมระดับมัธยม เขาต้องลงแข่งเพียงแค่ฤดูกาลละ 30 กว่านัด

แต่ใน NBA จำนวนเกมที่ต้องเล่นติดกันมันมีมากมายกว่านั้นเยอะเขาบอกกับตัวเองว่า สิ่งที่ต้องทำคือ ฟิตซ้อมร่างกายให้หนักพอสำหรับการเล่นเกมจำนวนมากขนาดนั้น เมื่อถึงรอบเพลย์ออฟในฤดูกาลหน้า ขาของเขาจะแข็งแรงพอ ไม่ทำให้บอลมันสั้นอีกต่อไป
นั่นคือข้อสรุปของเขาในอายุ 18 ปี… ความมั่นใจของเขามันมาจากไหน? ตั้งแต่อายุ 13 ขวบ มันมีการจัดอันดับนักบาสระดับมัธยมยอดเยี่ยมทั่วประเทศ ชื่อของโคบี้อยู่ในลำดับที่ 57 เขาไม่พอใจในลำดับรายชื่อที่เห็น สิ่งที่เด็กอายุ 13 ขวบแบบเขาทำคือ“บัญชีรายชื่อคนที่ต้องฆ่า (Kill List)”
โคบี้นั่งทำบัญชีรายชื่อ 56 นักบาสที่อันดับสูงกว่าเขา และทุกครั้งที่เขามีโอกาสแข่งกับคนในรายชื่อเหล่านั้น เขาจะเข้าไปวัดในเกมทันทีว่าใครเหนือกว่า เมื่อเขาเอาชนะคนนึงได้ เขาจะขีดชื่อออกทีละชื่อ…ทีละชื่อ
จนมั่นใจว่าเขาสามารถเอาชนะทุกคนและบอกกับตัวได้ว่า ลำดับที่จัดมานั้นมันไม่มีความหมายในสมัยมัธยมปลายก่อนที่โคบี้เคยจะเข้าลีก เขามีโอกาสได้คุยกับผู้เล่นในทีมซิกเซอร์สว่า การที่ต้องไปประกอบไมค์ (ไมเคิล จอร์แดน) มันเป็นอย่างไรบ้าง คำตอบที่เขาได้คือ“ไมค์? เอ็งหมายถึง พระเจ้าผิวดำ (Black Jesus)?”“พระเจ้าอะไร?” โคบี้ ถามกลับด้วยความงง“พวกเราเรียกไมค์ว่า พระเจ้าผิวดำ อย่าคิดจะไปสู้กับเขาเลย”
นั่นคือระดับความเกรงกลัวที่จอร์แดนสร้างไว้กับคนในลีก แม้กระทั่งการคุยกันลับหลังคนยังยกย่องเขาเป็นพระเจ้า แต่โคบี้ไม่ได้คิดแบบนั้น
“ชื่อของเขาคือ ไมค์ โว้ย ไม่ใช่พระเจ้า จะไปเรียกเขาว่าพระเจ้าทำไม เขาคือ ไมค์” มันคือสิ่งที่เขาคิดในใจ ณ ตอนนั้น
และมันก็ไม่ใช่แค่คำพูด เมื่อมีโอกาสได้ประมือกับจอร์แดนเป็นครั้งแรก แม้จะโดนสอนมวยไปหลายลูก แต่ตัวเขาไม่เคยแสดงความกลัวออกมา ทุกครั้งที่มีโอกาสเขาจะยืนหยัดเพื่อโต้กลับอยู่เสมอ ซึ่งจอร์แดนก็สัมผัสได้ถึง จิตใจที่ไม่ยอมแพ้และไม่เกรงกลัวของเด็กคนนั้น นั่นทำให้ โคบี้ เป็นหนึ่งในนักบาสเพียงไม่กี่คนที่จอร์แดนมักจะพูดออกสื่อในเชิงการยอมรับถึงฝีมือ
ในอายุ 18 ปี ตั้งแต่ช่วงแรกที่โคบี้เข้าลีก เขาพบว่านักบาสในลีกส่วนมากไม่ได้ทุ่มเทให้ความสำคัญกับบาสเกตบอลเป็นอันดับแรกในชีวิตบางคนเล่นเพื่อเงินบางคนเล่นเพื่ออยากมีชื่อเสียงบางคนพอใจแค่การได้ติดทีมใน NBA

นักบาสกลุ่มนี้เมื่อได้สิ่งที่ตัวเองต้องการแล้วก็หยุดความพอใจไว้แค่นั้น และเริ่มแบ่งเวลาให้กับสิ่งอื่น ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว เพื่อนฝูง หรือการหาความสุขกับเรื่องอื่นในชีวิต แต่สำหรับ…โคบี้ มันไม่ใช่ เขาต้องการเป็นผู้เล่นที่เยี่ยมยอดที่สุดที่โลกเคยมีมา เพดานของความพอใจที่เขามีมันสูงกว่าคนทั่วไปมากนักและมันทำให้เขารู้สึกได้เลยว่า‘การจะเอาชนะคนเหล่านี้มันง่ายยิ่งกว่าการแย่งขนมในมือเด็กมากิน และมันก็ไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไม ไมเคิล จอร์แดน ถึงคว้าแชมป์ได้มากมายขนาดนั้น’
โคบี้บอกว่า ความสัมพันธ์ของเขากับบรรดาเพื่อนฝูงญาติมิตร มันขาดหายไปในช่วงที่เขาเข้า NBA เพราะเขาเลือกที่จะให้เวลากับบาสเกตบอลเป็นอย่างแรก และทุกคนที่รู้จักเขาดีพอต้องเข้าใจว่าเขากำลังทำอะไรอยู่ หรือไม่ก็อาจจะโกรธเขาและค่อยๆ เดินออกจากชีวิตเขาไปเลยเขาไม่เที่ยวเล่นกับเพื่อน ไม่หาความสนุกให้ตัวเอง ทุกอย่างในชีวิตของเขามันคือบาสเกตบอล เมื่อมีคนถามว่า ทำไมเขาถึงต้องทำขนาดนี้ คำตอบที่ได้คือ
“ในวันที่ผมเดินจากบาสเกตบอล ผมอยากบอกกับตัวเองให้ได้ว่า มันไม่มีอะไรเหลือให้ผมทำได้มากกว่านี้อีกต่อไปแล้ว”ถ้า แชค ยอมฝึกหนักเท่ากับโคบี้จะเกิดอะไรขึ้น?“เขาจะกลายเป็นผู้เล่นที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์แน่นอน ถ้าเขาฝึกหนักเท่าผม” โคบี้ กล่าว